08 February 2012

สหภาพยุโรปเลื่อนเวลาดำเนินการด้านเชื้อเพลิงชีวภาพเนื่องจากผลกระทบทางอ้อม







                                      
เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านภูมิอากาศและพลังงานของสหภาพยุโรปตกลงที่จะเลื่อนเวลาการบังคับใช้บทลงโทษกับเชื้อเพลิงชีวภาพแต่ละชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อมออกไปอีก 7 ปี
เป็นการประนีประนอมทางการเมืองเพื่อปกป้องรายได้ของเกษตรกรและการลงทุนด้านเชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบัน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นการบั่นทอนการลงทุนใหม่ในด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านพลังงานและด้านภูมิอากาศ ของสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม 2554 ตกลงมีมติให้เลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไป 
ปัญหาแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (Indirect-Land Use Change, ILUC) กล่าวว่าหากมีการนำเอาที่ดินสำหรับปลูกพืชอาหารมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอาจทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในหลายๆพื้นที่ของโลก และหากความต้องการพืชเพิ่มมากขึ้นยิ่งทำให้ต้องหาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ซึ่งอาจจะมีการทำลายป่าดงดิบชื้น หรือนำที่ดินป่าพรุมาเป็นพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของภาวะโลกร้อนมากพอที่จะยกเลิกเกณฑ์ขั้นต่ำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากเชื้อเพลิงชีวภาพต่างๆในเชิงทฤษฏีได้
ที่ประชุมจึงตกลงที่จะเลื่อนเวลาบังคับใช้กฎที่จะนำเอาค่าปัจจัยเกี่ยวกับชนิดของพืชเข้ามาใช้ในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามประเภทของเชื้อเพลิงชีวภาพเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก กระบวนการเริ่มตั้งแต่การผลิตจนถึงการขนส่งเชื้อเพลิงชีวภาพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม ซึ่งได้รับความเห็นชอบให้นำมาใช้ในการคำนวณผลกระทบทางอ้อมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อกำหนดบทลงโทษเชื้อเพลิงชีวภาพทุกชนิดอย่างเท่าเทียมกัน 


เรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับการเพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำสุดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงชีวภาพทุกชนิดเมื่อนำมาเทียบเคียงกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อกำหนดเป้าหมายของสหภาพยุโรป ที่จะเพิ่มส่วนแบ่งการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคการขนส่งทางบกซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ.2563 ตอนหนึ่งในรายงานประชุมระบุว่าการนำเอาค่าผลกระทบจากเฉพาะวัตถุดิบ ของ ILUC มาใช้ อาจจะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการคำนวณผลกระทบทางอ้อมอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน แต่ปัจจัยดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อยู่มาก  ดังนั้นในขั้นแรกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรปทั้งสองหน่วยงานจึงเห็นพร้องต้องกันที่จะลดผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อมในระยะสั้นก่อน โดยเพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับสูงกว่าที่กำหนดไว้ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ 35 เปอร์เซ็นต์  ภายในปี พ.ศ. 2556  และเพิ่มขึ้นไปที่ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2560 

ทั้งนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าเกณฑ์ขั้นต่ำสุดควรจะเพิ่มขึ้นไปที่เท่าไหร่แน่นอนคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปคงต้องหารือกันต่อไป 

แหล่งข่าวในสหภาพยุโรปกล่าวว่าเป้าหมายในปี พ.ศ. 2556 อาจเพิ่มเป็น 45 หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ และจะนำเอาปัจจัยเกี่ยวกับชนิดของพืชเข้ามาใช้ในการคำนวณผลกระทบของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการใช้ที่ดินทางอ้อม ในปีพ.ศ. 2557 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในราวปีพ.ศ. 2559 หรืออย่างช้าในปี พ.ศ. 2561
เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปกล่าวว่าการนำเอา ILUC factor มาใช้ในอนาคตก็เพื่อหยุดยั้งการละเมิดและการลงทุนที่ไม่ยั่งยืนด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ 



ปฏิกิริยาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย : ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและฝ่ายขนส่ง
มีข้อวิตกกังวลจากภาคธุรกิจด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ จากค่าความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ ของ ILUC  factor ทำให้บั่นทอนการลงทุนธุรกิจด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ หากธุรกิจอยู่ไม่ได้สหภาพยุโรปก็อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคการขนส่ง
ส่วนภาคธุรกิจขนส่งก็ไม่พอใจกับท่าทีของสหภาพยุโรปเพราะคิดว่าล่าช้าและสับสน เนื่องด้วยภาคขนส่งต้องการให้ผลักดันการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนทันที (1)

สถานการณ์ด้านพลังงานของไทย
           นายเรืองศักดิ์ ฐิติรัตน์สกุล รองผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในเบื้องต้นพบว่า ไทยมีโอกาสสูงที่จะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายเอทานอลและไบโอดีเซลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากมีกำลังการผลิตเกินความต้องการใช้ในประเทศมาก ปัจจุบัน กำลังการผลิตไบโอดีเซลมีถึง 6 ล้านลิตรต่อวัน แต่มีความต้องการใช้เพียง 1.6 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ผลิตเอทานอลได้ 2.95 ล้านลิตรต่อวัน แต่มีความต้องการใช้ในประเทศเพียง 1.4 ล้านลิตรต่อวัน อีกทั้งในปีหน้าจะเกิดโรงงานผลิตเอทานอลเพิ่มอีก 5 โรง จากปัจจุบันที่มีอยู่  19 โรง ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตเอทานอลในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 5.35 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งส่วนเกินดังกล่าวสามารถส่งออกได้หากเดินเครื่องผลิต 100% น่าจะได้เอทานอลกว่า 3 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่ขอใบอนุญาตผลิตเอทานอลไว้ทั้งสิ้น 47 โรง หากเปิดดำเนินการได้ทั้งหมดจะส่งผลให้มีการผลิตเอทานอลในไทยสูงถึง 12.5 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเชื่อว่าไทยสามารถผลิตเพื่อส่งออกและเป็นฮับเอทานอลได้แน่นอน”  แต่ไทยยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนเอทานอลที่สูงกว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (2)
การใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการพัฒนาพลังงานทดแทน
จากมติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในเดือนเมษายน 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนา และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551 - 2565)  โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน (REDP) 15 ปี (พ.ศ. 2551-2565)  ของกระทรวงพลังงาน โดยใช้ วทน. สนับสนุนการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลตลอดจน Value chain เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผน REDP 15 ปี คือ เอทานอล 9 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 4.5 ล้านลิตร/วัน ในปี 2565 และเพื่อให้การผลิตไม่กระทบกับพืชอาหารโดยจะส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารเพื่อผลิตเป็นพลังงาน (non food for fuel) ไปพร้อมกัน (3) 

แหล่งที่มา:   (1) สำนักข่าวรอยเตอร์ 9 กันยายน 2554  (2) ข้อมูลจากฐานเศรษฐกิจออนไลน์  (ลงทุน-อุตสาหกรรม)    www.thanonline.com  และ  (3) จาก ww.eppo.go.th/nepc/kpc/kpc.htm

No comments:

Post a Comment