22 March 2016

นโยบายด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา

          นโยบายด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในหลายแง่มุมหลังจากการทบทวนนโยบายในเชิงลึกเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาวางตำแหน่งของประเทศไว้ในฐานะประเทศที่สามารถส่งมอบระบบพลังงานที่น่าเชื่อถือ ราคาไม่แพงและยั่งยืน แนวโน้มที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ การฟื้นตัวของการผลิตน้ำมันและก๊าซที่เคยซบเซา การเพิ่มยอดการผลิตก๊าซด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดทำให้เกมส์ในตลาดอเมริกาเหนือเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมพลังงานของอเมริกาเองและทั่วโลก เช่น ทำให้ราคาพลังงานลดลง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในทุกภาคส่วนลดลงตามไปด้วย
          ด้วยมาตรการด้านประสิทธิภาพพลังงานที่เข้มแข็งในการคมนาคมขนส่ง โดยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการกำกับดูแลโรงไฟฟ้าใหม่และที่มีอยู่เดิมและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การปฏิวัติพลังงานในครั้งนี้ของสหรัฐอเมริกาส่งผลต่อตลาดพลังงาน การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การแข่งขันทางเศรษฐกิจ และศักยภาพด้านความมั่นคงด้านพลังงาน ภูมิศาสตร์การเมือง และต่อเศรษฐกิจโลกอย่างกว้างขวาง ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้นตลอด 6 ปีที่ผ่านมา มีการผลิตน้ำมัน ก๊าซจากชั้นหินดินดานและพลังงานจากชีวมวลภายในประเทศไปพร้อมๆกับมาตรการด้านอุปสงค์ เช่น นโยบายสนับสนุนประสิทธิภาพด้านพลังงาน ลดการใช้พลังงานในการคมนาคมขนส่ง ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่พึ่งพาตนเองได้ภายในปี 2035
          การใช้เทคโนโลยีการผลิตน้ำมันดิบที่พัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น ที่เรียกว่า hydraulic fracturing หรือที่รู้จักกันสั้นๆว่า “fracking” ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีผลระยะกลางทำให้อุปทานภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาพประกอบจาก https://sites.psu.edu/fracking1/wp-content/uploads/sites/26686/2015/04/ cropped-fracking-infographic.jpg

 กรอบนโยบายด้านพลังงานฉบับใหม่
          จากเอกสารด้านนโยบาย “President’s blueprint for a secure Energy Future” เผยแพร่ในปี 2011 ทำให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสาธารณชน เห็นทิศทางนโยบายระยะกลางของรัฐบาลกลางชัดเจนมากขึ้น ที่จะขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานความร้อนจากใต้พิภพเป็น 2 เท่าในปี 2020 ลดการนำเข้าน้ำมันลงครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปี และเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานเป็น 2 เท่าภายในปี 2030 พร้อมทั้งเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดในระดับนานาชาติ
        ปี 2012 สหรัฐอเมริกาประกาศใช้ยุทธศาสตร์ “All-of-the-Above” ซึ่งกำหนดเป้าหมายพร้อมแผนปฏิบัติการไว้ 3 ประการ คือ (1) สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการสร้างงาน (2) ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และ (3) ใช้เทคโนโลยีพลังงานคาร์บอนต่ำ
การสร้างระบบพลังงานที่ยั่งยืน
          สหรัฐอเมริกาจะเร่งผลักดันเพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ เพิ่มปริมาณการจ้างงาน ลดการพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน โดยจะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด รถไฟความเร็วสูง แบตเตอรี่รถยนต์ การใช้ไฟฟ้าแบบชาญฉลาด (smart grid) และอาคารประหยัดพลังงาน โดยการออกกฎหมายและมาตรการส่งเสริมเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด ต่างๆ เช่น
- American Recovery and Reinvestment Act (ARRA) ประกาศใช้ในปี 2009 สหรัฐอเมริกาลงทุนกว่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐในภาคอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เทคโนโลยีสะอาด นวัตกรรมด้านยานยนต์และเซลล์เชื้อเพลิง รวมทั้งระบบ smart grid นอกจากนี้ ยังมีมาตรการ CAR (Car Allowance Rebate System) ที่ให้เงินจำนวน 3,500 – 4,500 ดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้ที่นำรถเก่าซึ่งเข้าข่ายที่กำหนด มาแลกซื้อรถใหม่ ในช่วง ก.ค. ส.ค. 2009 ทำให้สามารถกำจัดรถเก่าได้ถึง 7 แสนคันและช่วยกระตุ้นการบริโภคได้ระดับหนึ่ง
- Energy Efficiency Standards เพิ่มมาตรฐานการผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มสมรรถภาพในการประหยัดพลังงาน
- Executive Order on Federal Sustainability ให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน โดยตั้งเป้าที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 28 ภายในปี 2020 เพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน และลดการใช้เชื้อเพลิงในการคมนาคม
- Efficiency Standards for Cars and Trucks เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
      
ในเดือนมิถุนายน 2014 องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency, EPA) เสนอแผนพลังงานสะอาด (Clean Power Plan) เพื่อลดมลพิษจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ พร้อมทั้งออกคู่มือเพื่อให้มลรัฐต่างๆนำไปจัดทำแผนของตนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยกำหนดว่ากฎระเบียบข้อกำหนดต่างๆจะต้องเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนมิถุนายน 2016   
          นโยบายด้านประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency policies) มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะที่ความต้องการด้านพลังงานลดลง สหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านนี้เป็นอย่างดี คาดการณ์ว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นนโยบายระยะกลาง โดย ARRA ลงทุน 12 ล้านเหรียญสหรัฐในโปรแกรมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้แก่บ้านพักอาศัยในเขตผู้มีรายได้ต่ำ อาคารที่ทำการของรัฐและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดรหัสพลังงานสำหรับอาคารพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัยสร้างใหม่ให้ประหยัดพลังงานได้ 30 % เมื่อเทียบกับอาคารที่สร้างขึ้นในปี 2006
         การพัฒนาด้าน smart grid มีความก้าวหน้าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อาคารบ้านเรือนกว่า 33 ล้านหลังคาเรือนติดตั้งมิเตอร์เพื่อวัดการใช้ไฟฟ้าอย่างชาญฉลาดนี้
      ส่วนเป้าหมายนโยบายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 2 เท่าที่ผลิตได้ในปี 2012 ภายในปี 2020 ยังไม่มีแผนการที่ชัดเจนว่าจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร ทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในโครงการด้านนี้ของรัฐบาลกลาง
      กำลังการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดข้อกังวลใจด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ด้วยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรถไฟและมาตรการความปลอดภัยที่รองรับขนาดการผลิตดังกล่าว
สถานการณ์ด้านพลังงาน
          ในปี 2014 สหรัฐอเมริกามีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 4093 ล้านล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ประมาณ 67 % เป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเลียม) โดยมีส่วนแบ่งพลังงานจากแหล่งต่างๆ ดังแสดงในภาพ
ภาพ แสดงสัดส่วนพลังงานจากแหล่งต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2014
ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา
     สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติของไทย และ Renewable Energy Institute International ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัย พัฒนา และสาธิตเทคโนโลยีการแปรสภาพชีวมวลเป็นพลังงานเชื้อเพลิง และวัสดุชีวภาพ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2006 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2011
ในปี 2007 กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ กระทรวงพลังงานได้ร่วมกันดำเนินโครงการความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงชีวภาพระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมของเทคโนโลยีและแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากสหรัฐฯ
ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน เอเปค ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. 2010 ณ เมือง ฟุคุอิ ประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีพลังงานของไทยได้หารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ (Celluosic 2nd Generation of Biofuel) และความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแล และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
         สหรัฐอเมริกามีท่าทีเปิดรับความร่วมมือด้านพลังงานกับไทยในทุกสาขารวมทั้งนิวเคลียร์ โดยผ่านหน่วยงาน United States Trade and Development Agency (USTDA)  

บทบาทของเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังปี 2015

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือที่เรียกสั้นๆว่า SDGs คืออะไร
SDGs คือ เซ็ทของกลุ่มเป้าหมายใหม่ของสหประชาชาติ ได้จากการเจรจาต่อรองอันยาวนานกว่า 2 ปี เพื่ออนาคตของโลกใบนี้จนถึงปี 2030 ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย (goals) 169 เป้าหมายย่อย (targets)
มีอะไรแปลกใหม่และแตกต่างใน 17 เป้าหมายของ SDGs
ข้อที่ 1 และสำคัญที่สุดคือ เป้าหมายเหล่านี้จะนำไปประยุกต์ใช้กับทุกๆประเทศ ในทุกภาคส่วน ทุกเมือง ทุกธุรกิจ ทุกโรงเรียนและสถาบันอย่างท้าทาย ที่เรียกว่า “อย่างสากล (Universality) ข้อที่ 2 ทุกเป้าหมายมีความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ไม่สามารถเลือกที่จะบรรลุเป้าหมายใดเพียงเป้าหมายหนึ่งได้ แต่ต้องบรรลุในทุกเป้าหมาย ที่เรียกว่า “บูรณาการ (Integration)” และข้อสุดท้าย การที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนรากฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกใบนี้อย่างมโหฬาร ที่เรียกว่า “การเปลี่ยนแปลง (Transformation)
เป้าหมายทั้ง 17 มีอะไรบ้าง
เป้าหมาย
เป้าหมาย
1 กำจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ในทุกสถานที่ให้หมดสิ้นไป
2 ยุติความหิวโหยและอดอยากด้วยความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการที่ดี
3 มั่นใจว่าทุกคนจะต้องมีสุขภาพที่ดี โดยส่งเสริมการกินดีอยู่ดี
4 มั่นใจว่ามีการศึกษาแบบเรียนรวมที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนตลอดชีพ
5 บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ ให้อำนาจแก่สตรีและเด็กหญิง
6 มั่นใจว่ามีน้ำและสุขาภิบาลเพื่อทุกคน
7 มั่นใจว่ามีพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน น่าเชื่อถือและราคาไม่แพงแก่ทุกคน
8 ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสมแก่ทุกคนเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยรวม
9 มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น โดยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน
10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ
11 ทำเมืองให้เป็นที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ยืดหยุ่นและยั่งยืน
12 มั่นใจว่ามีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
14 อนุรักษ์แหล่งทรัพยากรชายฝั่ง ทางทะเลและมหาสมุทรให้มีใช้อย่างยั่งยืน
15 มีการจัดการป่าอย่างยั่งยืน ยับยั้งและพลิกฟื้นผืนดินที่เสียหาย ต่อสู้กับความแห้งแล้งและการเกิดทะเลทราย ยับยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
16 ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างยุติธรรมและสันติสุข
17 สร้างความเข้มแข็งระหว่างหุ้นส่วนโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          แต่ละเป้าหมายมีความสำคัญในตัวเองและทุกเป้าหมายมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ภาพประกอบจาก : 17goals.org/wp-content/uploads/2015/.../17Goals_BasicSlideset_v1.pptx
เทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็เช่นเดียวกัน ที่มีส่วนในการพัฒนาโลกใบนี้มาหลายศตวรรษ และพร้อมที่จะสนับสนุนเป้าหมายใหม่ SDGs ของสหประชาชาติ โดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันดีในนาม IAEA จะให้การสนับสนุนเป้าหมายต่างๆ ผ่านโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพในหลากหลายสาขา โดยทุกประเทศสมาชิกจะต้องผนวกเป้าหมายใหม่เข้ากับแผนพัฒนาแห่งชาติของตน ซึ่งจะต้องสะท้อนให้เห็นในกรอบความร่วมมือทางวิชาการของประเทศนั้นๆกับ IAEA (Country Programme Framework, CPF)

ด้วยเป้าหมาย SDGs และเป้าหมายของ IAEA มีความซ้ำซ้อนกันอย่างใกล้ชิด จึงคาดหวังว่าเป้าหมายใหม่นี้จะช่วยยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปสู่ระดับใหม่ ด้วยขอบเขตที่กว้างขวาง จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานของสหประชาชาติต่างๆ มีความร่วมมือกันมากขึ้น โดยหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในสาขาเฉพาะทางสามารถแสวงหาหุ้นส่วนความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆได้