19 March 2013

เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ?

 
งานวิจัยจากประเทศอังกฤษชี้ว่า กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพก่อให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อบรรยากาศและชีวิตมนุษย์ได้ หากรวมตัวกับสารอื่น การรวมตัวกันของสารดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลงแล้ว คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรต่อปี จากผลกระทบดังกล่าวมากถึง 14,000 ราย ภายในปี ค.ศ. 2020 ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ ประเทศอังกฤษชื่อ “Impacts of biofuel cultivation on mortality and crop yields” นำโดยศาสตราจารย์ Nick Hewitt ระบุว่า นโยบายสีเขียวของสหภาพยุโรปหรืออียู ที่ผลักดันให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพแทนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินและน้ำมันนั้น มิได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่คิด เพราะการปลูกพืชเพื่อนำมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของอากาศ 

จริงอยู่ที่การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนพลังงานจากซากสัตว์ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูง (carbon-intensive fossil fuels) ส่งผลดีทำให้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การปลูกพืชโตเร็วเพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น ยูคาลิปตัส และต้นหลิว เป็นจำนวนมากในพื้นที่หนึ่งๆ (เมื่อเทียบกับต้นหญ้าและพืชที่ปลูกเพื่อใช้เป็นอาหาร) จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยสารเคมีชื่อไอโซพรีน (isoprene) ซึ่งต้นไม้โตเร็วเหล่านี้ปล่อยออกมาอย่างเข้มข้นในขณะเจริญเติบโต เมื่อสารไอโซพรีนรวมตัวเข้ากับมลภาวะทางอากาศตัวอื่นๆ ในแสงอาทิตย์ (air pollutants in sunlight) ในบรรยากาศชั้นล่าง (lower atmosphere) จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี นำไปสู่การก่อตัวของก๊าซโอโซนที่เป็นพิษ (toxic ozone) ขึ้น ซึ่งการศึกษาระบุว่าเป็นอันตรายต่อทั้งพืชและมนุษย์ ดังนั้นนโยบายของอียูที่ผลักดันให้มีการหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากไม้โตเร็วประเภทดังกล่าว แทนการพึ่งพาพลังงานจากซากสัตว์ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูง เพื่อบรรลุเป้าหมาย “2020”—ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายคือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมทุกสาขาให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี ค.ศ. 2020—จะส่งผลให้ ผลผลิตข้าวสาลี (wheat) และข้าวโพด (maize) มีจำนวนลดลง คิดเป็นมูลค่า 1.5 หมื่นยูโร ต่อปี เนื่องจากก๊าซโอโซนส่งผลกระทบเชิงลบลดการเจริญเติบโตของพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ก๊าซโอโซนในปริมาณเข้มข้น เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับปอด โดยในแต่ละปี องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรปหรืออีอีเอ (European Environment Agency—EEA) พบสถิติการตายเนื่องจากโรคปอดในยุโรป มากถึง 22,000 รายต่อปี ในขณะที่มลพิษในอากาศที่เกิดจากเชื้อเพลิงซากสัตว์ก่อให้เกิดการเสียชีวิตในยุโรปราว 500,000 รายต่อปี 



อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ได้ชี้ทางออกให้แก่อียู โดยมีข้อเสนอแนะว่าควรมีนโยบายย้ายฐานการปลูกพืชและผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอยู่ห่างไกลจากบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เพื่อลดโอกาสการก่อตัวของก๊าซโอโซน นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า การพิจารณาใช้พันธุวิศวกรรมร์เพื่อลดปริมาณการปล่อยสารไอโซพรีนในพืชเป้าหมายอาจเป็นอีกทางออกหนึ่ง งานวิจัยจากประเทศอังกฤษชิ้นนี้เป็นหนึ่งในหลายความพยายามที่ต้องการทำให้อียูตระหนักถึงนัยของการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อตอบสนองนโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอียู เพื่อให้อียูพิจารณาปรับตัวลดผลกระทบที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ งานวิจัยอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในฐานะพลังงานทดแทน เช่น เมื่อราวต้นปี ค.ศ. 2012 รายงานของคณะกรรมาธิการความมั่นคงอาหารโลก หรือยูเอ็น ซีเอฟเอส (United Nations’s Committee on World Food Security—UN CFS) วิพากษ์วิจารณ์นโยบายกระตุ้นการใช้พลังงานทดแทนของอียูดังกล่าวว่ามีส่วนทำให้ราคาอาหารโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าอียูมีการปรับตัวอย่างสร้างสรรค์โดยหันมาใช้วัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพที่มิใช่อาหารหรือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว น่าติดตามว่าอียูจะมีการตอบสนองต่องานวิจัยจากประเทศอังกฤษชิ้นนี้อย่างไรในอนาคต 

ที่มา 1. http://news.lancs.ac.uk/Web/News/Pages/Biofuel-cultivation-could-harm-human-health.aspx 
        2. http://www.nature.com/nclimate/journal/vaop/ncurrent/full/nclimate1788.html 
        3. http://www.reuters.com/article/2013/01/07/us-climate-biofuels-idUSBRE90601A20130107 
        4. http://news.thaieurope.net/content/view/3864/211/

No comments:

Post a Comment