27 February 2011

นโยบายคาร์บอนเครดิตของอียู

สืบเนื่องจากรายงานวิเคราะห์ตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตในอียู ส่งผลให้โครงการ Clean Development Mechanism (CDM) ที่มีภารกิจในการกำจัดก๊าซไตรฟลูโอโรมีเธน (HFC-23) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) ของประเทศกำลังพัฒนาจะไม่สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตประเภท Certified Emission Reduction (CERs) ภายใต้ระบบ Emission Trading Scheme ของอียู (EU ETS) ได้อีกต่อไป โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2013 เป็นต้นไป



         การยกเลิกดังกล่าวเป็นผลสรุปจากการถกเถียงและวิเคราะห์โครงการดังกล่าวว่าไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง แต่กลับเป็นแรงจูงใจให้ประเทศอุตสาหกรรมผลิตก๊าซทั้งสองมากยิ่งขึ้นเพื่อนำกลับไปกำจัดในโครงการ CDM ประเภทนี้และนำไปขายต่อในตลาด EU ETS เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ขึ้น
         นอกจากนี้คาร์บอนเครดิตจำนวนมากที่ได้จากโครงการกำจัดก๊าซทั้งสองนี้ เป็นผลงานจากโครงการเพียงไม่กี่โครงการและกระจุกตัวอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวหน้าแล้วเท่านั้น เช่น จีน เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการบิดเบือนการกระจายตัวของโครงการ CDM ซึ่งควรจะกระจายออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาให้ทั่วถึงมากกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนายังสามารถกำจัดก๊าซดังกล่าวได้เองในราคาที่ถูก จึงไม่ควรได้รับการสนับสนุนจากตลาดการค้าคาร์บอนระหว่างประเทศ


         สิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะถูกแทนที่ด้วยกลไกควบคุมการปล่อยก๊าซแบบรายสาขา (sectoral-based crediting; SBC) ซึ่งอียูอ้างว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าแบบรายโครงการ (Project-based crediting) ที่เป็นอยู่
         อียูออกกฎข้อบังคับใหม่ซึ่งปัจจุบันมีผลบังคับใช้แล้วเพื่อแก้ไขการกระจุกตัวของโครงการ CDM โดยกำหนดให้คาร์บอนเครดิตจากโครงการใหม่ที่ลงทะเบียนภายใต้ EU ETS หลังปี 2012 จากประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่นในข้อตกลงแบบทวิภาคี
          ข้อบังคับดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรียุโรปแล้ว และคาดว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะประกาศใช้ในอีก 3 เดือนหลังจากนี้
          ผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CDM และ EU ETS ได้ที่ http://news.thaieurope.net/content/view/3697/247/



No comments:

Post a Comment