11 December 2011

การเปิดรับข้อเสนอโครงการเรื่องโรคที่หายากขับเคลื่อนโดยนักวิจัยรุ่นใหม่ ประจำปี 2012 ของสหภาพยุโรป




วัตถุประสงค์ของการเปิดรับข้อเสนอโครงการเรื่องโรคที่หายากขับเคลื่อนโดยนักวิจัยรุ่นใหม่ก็เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยอิสระรุ่นใหม่สร้างความร่วมมือข้ามชาติในสาขางานวิจัยโรคหายากโครงการความร่วมมือข้ามชาติควรอยู่บนพื้นฐานการเสนอสนองและการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะต้องแสดงว่ามีมูลค่าเพิ่มของความร่วมมือและผลของผลงานวิจัยที่คาดหวังต่อคนไข้ที่เป็นโรคหายากอย่างชัดเจน ผู้มีสิทธิ์เสนอโครงการจะต้องเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ได้รับปริญญาเอกหรือแพทยศาสตร์บัณฑิต(PhD/MD) หรือเทียบเท่าปริญญาเอกระหว่าง 2-10 ปี ยกเว้นในกรณีที่มีช่วงพักงานให้ส่งหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาได้

E-rare เริ่มเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมข้ามชาติครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “โรคหายาก” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2011 ที่ผ่านมา มี 9 ประเทศจากสาขาการวิจัยของยุโรปเข้าร่วมเสนอโครงการในครั้งนี้ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เยอรมนี อิสารเอล เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกสและสเปน (ตุรกียังรอผลการพิจารณาว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้หรือไม่)
โครงการนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคหายากหรือโรคหายากโรคใดโรคหนึ่งก็ได้ตามคำนิยามของยุโรป เช่น โรคที่อุบัติขึ้นไม่เกิน 5 ใน 10,000 ราย ของประชาคมยุโรป ทั้งนี้ไม่รวมโรคติดเชื้อที่หายาก โรคมะเร็งที่หายากและโรคที่หายากอันเนื่องมาจากผลอันไม่พึงประสงค์จากยาที่ใช้รักษาโรคธรรมดา
ข้อเสนอโครงการจะต้องครอบคลุมหนึ่งในสาขาหรือมีความเชื่อมโยงที่ทัดเทียมกัน ดังต่อไปนี้
-งานวิจัยร่วมการใช้ฐานข้อมูลผู้ป่วยและธนาคารชีวภาพซึ่งมีศักยภาพที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้ในการรักษา/สาธารณสุขและเศรษฐกิจสังคม
-งานวิจัยเกี่ยวกับโรคที่หายากรวมทั้งการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ไม่เกี่ยวกับลำดับของ DNA (epigenetics) และการศึกษาด้านพยาธิสรีรวิทยา
-งานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาโรคที่หายาก
-งานวิจัยที่มุ่งเน้นผู้ป่วยในสาขาสังคมและมนุษยวิทยา งานวิจัยเพื่อให้บริการสาธารณสุขและงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคหายาก
     ทั้งนี้ไม่รวมการศึกษาผลของยาในทางคลินิก
ข้อเสนอโครงการความร่วมมือข้ามชาติที่จะได้รับเงินสนับสนุนงานวิจัยจะต้องประกอบด้วย กลุ่มนักวิจัย 3-6 กลุ่มจากประเทศต่างๆ อย่างน้อย 3 ประเทศข้างต้น กลุ่มนักวิจัยจากสถาบันที่มีเงินสนับสนุนเงินวิจัยแต่มิได้เป็นสมาชิกในการเรียกข้อเสนอโครงการ E-rare-2 สามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยใช้เงินจากหน่วยงานของตนเอง ระยะเวลาในการดำเนินโครงการไม่เกิน 3 ปี
หัวหน้าโครงการรวมทั้งผู้ประสานงานโครงการของกลุ่มจะต้องเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ได้รับปริญญาเอกหรือแพทยศาสตร์บัณฑิต(PhD/MD) หรือเทียบเท่าปริญญาเอกในระหว่าง 2-10 ปี ยกเว้นในกรณีที่มีการหยุดงานตามสิทธิ์ให้ส่งหลักฐานการหยุดงานเพื่อประกอบการพิจารณาได้
การยื่นข้อเสนอโครงการ ดำเนินการโดยเลขานุการร่วมการรวบรวมข้อเสนอโครงการ (Joint Call Secretariat, JCS) มี 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ยื่นร่างข้อเสนอโครงการ กำหนดหมดเขต 31 มกราตม 2012, 12.00 CET เมื่อผ่านการพิจารณาในขั้นตอนที่ 1 ข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์จะได้รับการพิจารณาในขั้นตอนที่ 2 ก็ต่อเมื่อ JCS ส่งหนังสือเชิญไปยังผู้สมัครให้ยื่นข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์เท่านั้น
นักวิจัยที่กำลังมองหาพันธมิตร สามารถโพสต์ความต้องการของตนเองได้ในฟอรั่ม E - mail : Rare  (http://www.e-rare.eu/forum/3)
การเปิดรับข้อเสนอโครงการครั้งที่ 3 ในหัวข้อดังกล่าวมีขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2010 มี 9 ประเทศเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อิสราเอล อิตาลี สเปนและตุรกี มีผู้สนใจยื่นร่างข้อเสนอโครงการเพื่อเข้ารับการพิจารณาทั้งสิ้น 146 โครงการ มี 139 โครงการที่ผ่านการคัดกรองให้เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนที่ 1 และ 39 โครงการผ่านการพิจารณาให้เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนที่ 2 โครงการยอดเยี่ยม 13 โครงการได้รับเงินสนับสนุนการวิจัย คิดเป็นเงินวิจัยรวม 9 ล้านยูโร
เป็นที่น่าเสียดายที่โครงการดีๆ เช่นนี้ นักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยซึ่งเป็นประเทศที่สามไม่สามารถเข้าร่วมได้ อย่างไรก็ดีรูปแบบการเปิดรับข้อเสนอโครงการ กระบวนการกลั่นกรอง เพื่อให้เงินสนับสนุนงานวิจัยของสหภาพยุโรป หน่วยงานไทยที่เป็นผู้ให้ทุนวิจัยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อคัดเลือกโครงการบูรณาการเด่นๆที่มีศักยภาพจากหน่วยงานวิจัยภายในประเทศของเราในแต่ละสาขา เพื่อให้เงินสนับสนุนแก่โครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของประเทศเราจริงๆ ได้

แหล่งทีมา: ERA-Net for Research Programmes on Rare Diseases Newsletter ฉบับที่ 1 และ 2 ประจำเดือน พฤศจิกายนและธันวาคม 2011

No comments:

Post a Comment