16 September 2011

ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุอาการปวดแบบเรื้อรัง: HCN2

          สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษค้นพบยีนที่รับผิดชอบต่อการควบคุมอาการปวดแบบเรื้อรัง ที่มีชื่อเรียกว่า HCN2 การค้นพบครั้งนี้จะช่วยให้นักวิจัยยาค้นพบยาแก้ปวดซึ่งออกฤทธิ์ได้เฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพมากกว่ายาที่มีอยู่เดิม
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย เคมบริดจ์กล่าวว่า หากสามารถออกแบบยาที่สามารถปิดกั้นการสร้างโปรตีนของยีนได้ ก็จะสามารถรักษาอาการปวดที่เรียกว่า อาการปวดปลายประสาท (neuropathic pain) อันเนื่องจากความเสียหายของเส้นประสาทและบ่อยครั้งยากที่จะควบคุมอาการปวดด้วยยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปีเตอร์ แมคนอกตัน (Peter McNaughton) จากหน่วยเภสัชวิทยาแห่ง มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า ผู้คนได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการปวดปลายประสาท และบ่อยครั้งความปวดดังกล่าวลดลงเพียงเล็กน้อยหรือไม่บรรเทาลงเลยเนื่องจากยาไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา งานวิจัยของเราทำการศึกษาเพื่อพัฒนายาใหม่ที่ออกฤทธิ์ต่ออาการปวดเรื้อรังโดยการปิดกั้นยีน HCN2


                อาการปวดปลายประสาทแบบเรื้อรัง ถือเป็นภาระทางสุขภาพอย่างมากของโลก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 200 พันล้านยูโรต่อปีในยุโรปและประมาณ 150 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในสหรัฐอเมริกา จากการศึกษาพบว่าประมาณ 22 เปอร์เช็นต์ของผู้มีอาการปวดแบบเรื้อรังจะเกิดอาหารหดหู่และประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์นำไปสู่การตกงาน
                นักวิจัยรู้จักยีน HCN2 ซึ่งพบที่ปลายประสาทที่ไวต่อความรู้สึกปวดมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ในการควบคุมอาการปวดมากพอ เนื่องจากยีนที่มีความสัมพันธ์กันที่เรียกว่า HCN4 มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมกระแสไฟฟ้าของหัวใจ ทีมนักวิจัยของ McNaughton ตั้งข้อสงสัยว่ายีน HCN2 อาจมีบทบาทคล้ายกันในการควบคุมกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทที่ไวต่อความเจ็บปวดนี้ด้วย
                ผลการศึกษาซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2011 รายงานว่า นักวิจัยได้ทำการเคลื่อนย้ายเอายีน HCN2 ออกจากเส้นประสาทที่ไวต่อความรู้สึกเจ็บปวด แล้วใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นไปทีเส้นประสาทเหล่านี้ในจานเพาะเลี้ยงเพื่อค้นหาการเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาทเมื่อนำเอายีน HCN2 ออกไป
                นักวิจัยได้ศึกษากับหนูทดลองที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมโดยกำจัดยีน HCN2 ออกไปและวัดอัตราความเร็วที่ถอนตัวออกจากสิ่งกระตุ้นความเจ็บปวดในรูปแบบต่างๆกัน  นักวิจัยแสดงให้เห็นว่าการกำจัดยีน HCN2 ออกไป ทำให้อาการเจ็บปวดหายไปได้ พวกเขาพบว่าการกำจัดยีน HCN2 ไม่มีผลต่ออาการปวดแบบเฉียบพลันปกติ  เช่น อาการเจ็บปวดที่เกิดจากแผลบาดตัวเองจากอุบัติเหตุ หรือการกัดลิ้นตัวเอง
                McNaughton กล่าวในแถลงข่าวผลการศึกษาของเขาว่าสิ่งที่น่าตื่นเต้นของการทำงานนี้ก็คือ การนำเอายีน HCN2 ออกไปหรือการปิดกั้นด้วยตัวยาเพื่อขจัดอาการปวดแบบเรื้อรังโดยไม่มีผลต่อความเจ็บปวดแบบปกติ  ซึ่งมีคุณค่าทางคลีนิกเนื่องด้วยความรู้สึกเจ็บปวดแบบปกติมีความจำเป็นสำหรับการหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุ
                   อาการเจ็บปวดแบบเรื้อรังแตกต่างจากอาการเจ็บปวดจากการอักเสบ ซึ่งอาการปวดแบบเรื้อรังจะพบในคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งมีผลกับคนทั่วโลกราว 280 ล้านคน อาการปวดแบบนี้ยังพบในคนที่เคยเป็นโรคงูสวัดและคนไข้โรคมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และยังพบร่วมกับอาการปวดส่วนหลังตอนล่างและอาการปวดเรื้อรังชนิดอื่นๆด้วย


แหล่งที่มา : สำนักข่าวรอยเตอร์ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ: 8 กันยายน 2554

No comments:

Post a Comment