19 March 2012

ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเยือนสถาบันวิจัยด้านนิวเคลียร์ของยุโรป(CERN)


เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางไปเยือนสถาบันวิจัยด้านนิวเคลียร์ของยุโรป(CERN) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการก้าวหน้าสำหรับนักฟิสิกส์อนุภาคระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรับฟังสรุปการดำเนินงานและแสวงหาความร่วมมือในสาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์กับสถาบัน ตลอดจนเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการหลักของสถาบันได้แก่ Alice experiment (Large Ion Collider Experiment) และ CMS experiment (Compact Muon Solenoid) นอกจากนี้มีโอกาสได้พบปะกับนักศึกษาและนักวิจัยไทยที่ไปฝึกอบรม/ดูงาน ณ ห้องปฏิบัติการทั้งสองในขณะนั้นอีกด้วย 








คณะผู้แทนไทยได้รับการต้อนรับและฟังการบรรยายสุปผลการดำเนินงานของสถาบันจาก Prof. Emmanuel Tsesmelis <Emmanuel.Tsesmelis@cern.ch> Representative for South-East  Asia at the CERN Directorate Office ก่อนพาคณะเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการหลักของสถาบันได้แก่ Alice experiment (Large Ion Collider Experiment) และ CMS experiment (Compact Muon Solenoid)







หลังการเยี่ยมชมฯ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพนักวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานต่อ รมว.วิทย์ฯ ว่ากำลังดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CERN ด้านการวิจัยด้าน Nuclear Physics ซึ่ง ดร. ชิโนรัตน์ กอบเดชนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุรนารีและสถาบันซินโครตรอนต่างมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมในโครงการเช่นเดียวกัน ในการนี้ รมว.วิทย์ฯ จึงได้มอบหมายให้ ดร. ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันซินโครตรอน ร่วมหารือกับนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยสุรนารี จัดทำข้อสนอโครงการพร้อมงบประมาณให้ท่าน รมว.ทราบอย่างเร่งด่วนหลังเดินทางกลับจากราชการและมอบหมายให้ ปว.(บซ) เป็นผู้ประสานงานอำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยและ CERN  
ข้อสังเกต:
·         เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่สถาบัน CERN มีความก้าวหน้าล้ำยุคมาก มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายงานวิจัยและพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ทางการแพทย์โดยใช้ย่านพลังงานระดับต่ำ
·         เทคโนโลยีดังกล่าวอาจยังไม่เหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องด้วยการพัฒนาบุคลากรในสาขานี้ของไทยยังมีไม่เพียงพอ ประกอบกับอุปกรณ์และเครื่องมือมีมูลค่ามหาศาล การเดินเครื่องต้องดำเนินการโดยผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่ผ่านการฝึกอบรมจนมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เท่านั้น ส่วนการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง แต่ประเทศไทยเพิ่งมีการลงทุนติดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนซึ่งใช้ผลิตสารไอโซโทปรังสีที่มีอายุสั้นเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรครวมทั้งมะเร็งต่างๆ ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลกรุงเทพฯ 
·         อย่างไรก็ตามความร่วมมือกับ CERN จะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการของไทยในสาขาดังกล่าว ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การวิจัยต่อยอดที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้ในอนาคต

No comments:

Post a Comment