11 August 2011

สร้างยุงก้นปล่องไร้สเปิร์มหยุดยั้งการแพร่ระบาดโรคมาลาเรีย

          เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2554 นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอนเปิดแถลงข่าวเรื่องการปล่อยยุงก้นปล่องเป็นหมันอันได้จากการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของยีนผลิตสเปิร์มสู่ป่าเพื่อลดการแพร่ระบาดโรคไข้มาลาเรีย
          จากการศึกษาพฤติกรรมของยุงตัวเมียขณะกำลังจับคู่ นักวิจัยพบว่ายุงตัวเมียจะไม่รู้ว่ายุงตัวผู้ที่จับคู่อยู่นั้นเป็นหมัน ดังนั้นหลังการผสมพันธุ์ยุงตัวเมียจะไม่สามารถออกไข่ได้






          นักวิจัยกล่าวแนะว่า ในอนาคตอาจควบคุมประชากรยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรียได้โดยการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมโดยทำให้ยุงตัวผู้ไร้สเปิร์ม
          มาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะของโรค ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 300 ล้านคนและทำให้คนเสียชีวิตเกือบ 800,000 คนในทุกๆปี นับเป็นภัยคุกคามร้ายแรงในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลกรายงานว่ามีเด็กตายด้วยโรคนี้ทุกๆ 45 วินาที
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าวว่าจะทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคมาลาเรียนี้ต่อไปเพื่อหาวิธีกำจัดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอนและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก
          Flaminia Catteruccia  หัวหน้าคณะผู้วิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลกล่าวว่า “การต่อสู้กับโรคมาลาเรีย คือ ความพยายามที่จะควบคุมพันธุกรรมของยุง นั่นคืออาวุธลับของเราเธอยังกล่าวเสริมถึงแนวความคิดทางทฤษฏีที่นำไปสู่การปฏิบัติว่า “นักวิทยาศาสตร์ควรตั้งอยู่ในหลักการที่ว่า แมลงควรจะมีคู่ต่อไปตามปกติ โดยไม่รู้สึกว่าได้ถูกดัดแปลงพันธุกรรมหรือยีนแล้ว
ปกติยุงตัวเมียหลังจากผสมพันธ์ในครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของมันแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ การกินเลือดเป็นอาหารและการวางไข่


จากการศึกษาพบว่าพฤติกรรมของยุงยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าการจับคู่นั้นจะทำให้เกิดการผลิตไข่ที่เปลี่ยนเป็นลูกน้ำยุงได้หรือไม่ก็ตาม
          จากการศึกษาโดยใช้ยุงก้นปล่องสายพันธุ์ Anopheles gambiae สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคมาลาเรียในแอฟริกามาสร้างยุงตัวผู้ไร้สเปิร์ม ด้วยการฉีดโปรตีนที่ขัดขวางพัฒนาการของน้ำเชื้อเข้าไปในไข่ของยุงปกติ เมื่อโตขึ้นก็จะไม่สามารถผลิตสเปิร์มได้
          นอกจากนี้นักวิจัยยังพบพฤติกรรมที่น่าสนใจของยุงก้นปล่องว่า ยุงตัวเมียหลังผสมพันธุ์กับยุงตัวผู้ที่ไม่มีสเปิร์มแล้ว ยุงตัวเมียจะไม่พยายามไปผสมพันธุ์กับยุงตัวผู้ตัวอื่นๆอีก นั่นหมายความว่ายุงตัวเมียจะไม่มีโอกาสวางไข่ได้อีกอย่างแน่นอน
          การศึกษานี้ขัดแย้งจากการศึกษาพฤติกรรมของแมลงวันผลไม้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผสมพันธุ์กับแมลงวันผลไม้ตัวผู้อื่นๆ ต่อไป
          เมื่อปีที่แล้วมีการศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยกลุ่มอื่นในการริเริ่มสร้างยุงลายต้นเหตุของไข้เลือดออก ที่เป็นหมันทางพันธุกรรม  และได้ทดลองปล่อยยุงลายเป็นหมันออกสู่ภาคสนามเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก






1 comment: