19 March 2012

ก้าวต่อไปของการดำเนินงานด้านนโยบายระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตของสหภาพยุโรป

     นโยบายระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิตของสหภาพยุโรป หรือที่เรียกสั้นว่า EU ETS เป็นโครงการซื้อขายเครดิตการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีขนาดใหญ่ของโลก ถูกเปิดตัวเมื่อปี 2005 เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นเสาหลักที่สำคัญของนโยบายสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป 








     เฟสที่ 1 (2005-2007) จัดทำขึ้นเพื่อทำงานนอกเหนือสนธิสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศที่มีอยู่ก่อน เช่น   กรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UNFCCC, 1992)  หรือ พิธีสารเกียวโต (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2005) ซึ่งต่อมาสหภาพยุโรปได้ผนวกการรับรองตามพิธีสารเกียวโตที่มีความยืดหยุ่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการปฏิบัติตามระบบการซื้อขายคาร์บอนภายในสหภาพยุโรป มีประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในขณะนั้นเข้าร่วม ทั้งหมด 15 ประเทศ โดยรวมอุตสาหกรรมด้านพลังงาน (การติดตั้งการเผาไหม้ที่มีการป้อนข้อมูลความร้อนสูงสุดไม่เกิน 20 MW โรงกลั่นน้ำมันแร่, เตาอบโค้ก) อุตสาหกรรมการผลิตและถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ (ปูนซีเมนต์เม็ด แก้วและก้อนเซรามิก) อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและอื่นๆอีกมากมาย คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษในขณะนั้น ผลการดำเนินงานได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลว เนื่องด้วยแทนที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กลับพบว่ามีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ






     เฟสที่ 2 (2008-2012) จึงมีการดำเนินงานที่เข้มงวดมากขึ้น โดยรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินของสหภาพยุโรป เนื่องด้วยอุตสาหกรรมการบินเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2012 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังมีการถกเถียงจากประเทศต่างๆว่าสหภาพยุโรปไม่มีอำนาจในการควบคุมเที่ยวบินเมื่อไม่ได้บินอยู่ในน่านฟ้าของยุโรป จีนและสหรัฐอเมริกาขู่ว่าจะห้ามผู้ให้บริการระดับชาติของตนปฏิบัติตามแบบแผนของอียู ประเทศไทยได้ยื่นหนังสือคัดค้านกฎระเบียบดังกล่าวของอียูเช่นกัน 
      อย่างไรก็ตามสหภาพยุโรปยืนยันว่ากฎระเบียบดังกล่าวมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมแก่ผู้ให้บริการทั้งหมดและยืนยันว่าการออกกฎระเบียบดังกล่าวมิได้ขัดต่อกฎระเบียบระหว่างประเทศแต่อย่างใด 












      ในปี 2012 คณะกรรมการมีความประสงค์ที่จะรวมอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดและทุกภาคส่วนจากภาคการขนส่ง ได้แก่ การบิน, การขนส่งทางทะเลและการป่าไม้เข้าไว้ในแผนการดำเนินงาน ซึ่งการขยายขอบข่ายไปยังกิจการดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้และผู้ให้บริการจำนวนมากและจะเพิ่มความซับซ้อนในการปฏิบัติมากยิ่งขึ้น 
     ประเทศไทยซึ่งมีการขนส่งและค้าขายกับประเทศในยุโรปทางอากาศและทะเลปีหนึ่งๆมีมูลค่ามิใช่น้อย คงได้รับผลกระทบจากมาตรการและกฎระเบียบนี้ของสหภาพยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ นอกเหนือจากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกต่างๆ คงต้องเตรียมศึกษาหาข้อมูล ตลอดจนแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้ทราบเพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งต่อภาคการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางทะเลของไทย และผลต่อราคาสินค้าไทยเพื่อเตรียมมาตรการรับมือกับการบังคับใช้กฎระเบียบนี้ของอียูในเฟสต่อไป(2013-2020)

ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเยือนสถาบันวิจัยด้านนิวเคลียร์ของยุโรป(CERN)


เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำโดย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางไปเยือนสถาบันวิจัยด้านนิวเคลียร์ของยุโรป(CERN) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการก้าวหน้าสำหรับนักฟิสิกส์อนุภาคระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรับฟังสรุปการดำเนินงานและแสวงหาความร่วมมือในสาขานิวเคลียร์ฟิสิกส์กับสถาบัน ตลอดจนเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการหลักของสถาบันได้แก่ Alice experiment (Large Ion Collider Experiment) และ CMS experiment (Compact Muon Solenoid) นอกจากนี้มีโอกาสได้พบปะกับนักศึกษาและนักวิจัยไทยที่ไปฝึกอบรม/ดูงาน ณ ห้องปฏิบัติการทั้งสองในขณะนั้นอีกด้วย 








คณะผู้แทนไทยได้รับการต้อนรับและฟังการบรรยายสุปผลการดำเนินงานของสถาบันจาก Prof. Emmanuel Tsesmelis <Emmanuel.Tsesmelis@cern.ch> Representative for South-East  Asia at the CERN Directorate Office ก่อนพาคณะเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการหลักของสถาบันได้แก่ Alice experiment (Large Ion Collider Experiment) และ CMS experiment (Compact Muon Solenoid)







หลังการเยี่ยมชมฯ ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพนักวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานต่อ รมว.วิทย์ฯ ว่ากำลังดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CERN ด้านการวิจัยด้าน Nuclear Physics ซึ่ง ดร. ชิโนรัตน์ กอบเดชนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุรนารีและสถาบันซินโครตรอนต่างมีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมในโครงการเช่นเดียวกัน ในการนี้ รมว.วิทย์ฯ จึงได้มอบหมายให้ ดร. ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันซินโครตรอน ร่วมหารือกับนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยสุรนารี จัดทำข้อสนอโครงการพร้อมงบประมาณให้ท่าน รมว.ทราบอย่างเร่งด่วนหลังเดินทางกลับจากราชการและมอบหมายให้ ปว.(บซ) เป็นผู้ประสานงานอำนวยความสะดวกในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยและ CERN  
ข้อสังเกต:
·         เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่สถาบัน CERN มีความก้าวหน้าล้ำยุคมาก มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่กว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายงานวิจัยและพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ทางการแพทย์โดยใช้ย่านพลังงานระดับต่ำ
·         เทคโนโลยีดังกล่าวอาจยังไม่เหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนี้ เนื่องด้วยการพัฒนาบุคลากรในสาขานี้ของไทยยังมีไม่เพียงพอ ประกอบกับอุปกรณ์และเครื่องมือมีมูลค่ามหาศาล การเดินเครื่องต้องดำเนินการโดยผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่ผ่านการฝึกอบรมจนมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เท่านั้น ส่วนการประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ แม้ว่าจะมีการพิสูจน์ว่าสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง แต่ประเทศไทยเพิ่งมีการลงทุนติดตั้งศูนย์ไซโคลตรอนซึ่งใช้ผลิตสารไอโซโทปรังสีที่มีอายุสั้นเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรครวมทั้งมะเร็งต่างๆ ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลกรุงเทพฯ 
·         อย่างไรก็ตามความร่วมมือกับ CERN จะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการของไทยในสาขาดังกล่าว ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การวิจัยต่อยอดที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้ในอนาคต